Home » Rabbit School 101: รวมศัพท์อัพเวลสายดิจิทัลในวงการ Live and Production

Rabbit School 101: รวมศัพท์อัพเวลสายดิจิทัลในวงการ Live and Production

9 November 2021


ในโลกยุคใหม่ที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ทำให้สิ่งต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เราจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ รวมถึงเพิ่มคลังคำศัพท์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อการทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น

1. Lower Third

คำนี้ส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ในการถ่ายทอดสด หมายถึง กราฟฟิคที่ขึ้นมาที่จอด้านล่างเวลาที่ถ่ายสดอยู่ เช่น ชื่อ-สกุลผู้ดำเนินรายการ หรือคำถามสดจากทางบ้านที่ถามเข้ามาในรายการ โดยกราฟฟิคนี้จะอยู่ด้านล่าง ประมาณ 1 ใน 3 ของจอ ซึ่งเป็นกราฟฟิคที่แสดงผลสั้นๆ ไม่ได้อยู่ตลอดทั้งรายการ เหมือนกับราคาหุ้น หรือ ข่าวพิเศษ

2. Breakdown

ที่มาของคำนี้มาจากกองถ่าย เป็นการแสดงรายละเอียดให้เห็นว่าเรื่องที่ถ่ายทำอยู่ แต่ละฉากต้องใช้อุปกรณ์ประกอบฉากอะไรบ้าง แล้วต้องเปลี่ยนมุมกล้องภาพกว้าง หรือภาพแคบตอนไหนบ้าง ซึ่งการทำ Breakdown จะช่วยให้ทีมงานรู้จังหวะของการถ่ายทำ และสามารถสื่อสารกันได้ง่ายมากขึ้น

3. Transitions

ภาพหรือวิดีโอที่เอามาเชื่อมซีน 1 กับซีน 2 เช่น รายการถ่ายทอดสดที่มีผู้ประกาศข่าวอยู่ในสตูดิโอ และต้องการส่งต่อรายการไปยังนักข่าวภาคสนาม ระหว่างที่ส่งต่อจะมีตัวเชื่อมที่เรียกว่า Transition มาคั่นกลาง เพื่อให้ฝั่งที่อยู่ภาคสนามได้เตรียมความพร้อมก่อนจะดำเนินรายการที่ถูกส่งต่อมา โดยทั่วไป Transition จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วินาที ทั้งนี้ Transition จะใช้เฉพาะการเปลี่ยนฉากใหญ่ที่สำคัญ เพราะหากเปลี่ยนบ่อยเกินไป อาจจะสร้างความมึนงงให้กับผู้ชมได้

 4. VR

VR คำนี้ย่อมาจาก “Virtual Reality” ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นเคย หรือได้ยินคำนี้กันมาก่อน แต่อาจจะเกิดความสับสนเมื่อนำสองคำระหว่าง VR กับ AR มาเทียบกัน ซึ่งแท้จริงแล้ว คำว่า VR คือการจำลองโลกเสมือนแยกออกจากโลกแห่งความเป็นจริง ด้วยการสวมอุปกรณ์บางอย่างที่ทำให้สามารถมองเห็นอีกโลกหนึ่งได้ เช่น การชมการแสดงสดคอนเสิร์ตเสมือนจริงผ่านการสวมแว่นตา ที่ทำให้เราเข้าไปอยู่ในบรรยากาศที่หลอมรวมไปด้วยความบันเทิงแบบเต็มอารมณ์เหมือนการชมคอนเสิร์ตจริง

5. AR

AR คำนี้ย่อมาจาก “Augmented Reality” คือการนำวัตถุเสมือนมาใช้กับโลกแห่งความเป็นจริง หากใครเป็นสาวก Pokémon Go ที่ใช้สมาร์ทโฟนตามล่าจับตัวโปเกม่อนตามสถานที่ต่างๆ น่าจะคุ้นเคยกันดี เพราะผู้ใช้จะสามารถเห็นตัวโปเกม่อนที่เป็นวัตถุเสมือนเคลื่อนไหวได้ในโลกแห่งความจริงผ่านจอแสดงผล ทั้งนี้ AR ยังถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในด้านการขายออนไลน์ที่ให้ลูกค้าสามารถทดลองสินค้าผ่านจอแสดงผลได้ เช่น Sephora Application ได้มีฟีเจอร์ AR ที่เรียกว่า “Sephora Virtual Artist” ให้ลูกค้าสามารถทดลองสีลิปสติกผ่านจอแสดงผลของสมาร์ทโฟนได้ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการซื้อของออนไลน์ได้ดีมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นคำศัพท์เกี่ยวกับ Live & Production ที่นำมาแชร์ความรู้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อ่านที่ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในโลกดิจิทัลที่ไม่หยุดนิ่ง